Daily Archives: สิงหาคม 19, 2013

พระบรมราโชวาท

พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์พระบรมราโชวาทนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ เพื่อพระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ ที่เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ คือ
๑. พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาถ) ต้นตระกูลกิติยากร ภายหลังดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์
๒. พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) ต้นตระกูลรพีพัฒน์ ภายหลังดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (บิดาแห่งกฎหมายไทย)
๓. พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี) ต้นตระกูลประวิตร ภายหลังดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการในรัชกาลที่ ๕
๔. พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช) ต้นตระกูลจิรประวัติ ภายหลังดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเล็งเห็นว่า“การศึกษาคือรากฐานของการพัฒนาประชาชนและประเทศชาติ” พระองค์จึงทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงพระราชหัตถเลขา สั่งสอนพระโอรสทุกพระองค์ไม่ให้ถือตัวว่าเป็นเจ้า ใช้จ่ายอย่างประหยัด ขยันหมั่นเพียรศึกษา หาความรู้ ไม่หลงตัวว่าเป็นนักเรียนนอก ไม่ลืมภาษาไทยและความเป็นไทย เพื่อจะได้นำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศและถ่ายทอดความรู้นั้นเป็นภาษาไทยให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุด แก่ประเทศชาติสืบต่อไป
ลักษณะคำประพันธ์เป็น ร้อยแก้ว ทรงใช้เทศนาโวหารด้วยภาษาที่สื่อความหมายชัดเจน ตอนใดที่เป็น “คำสั่ง” ประสงค์จะให้ปฏิบัติ จะใช้คำว่า “จง”
พระบรมราโชวาท ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘
๑. การไปเรียนในครั้งนี้ให้ตั้งใจไปเพื่อศึกษาวิชาความรู้อย่างเดียว ไม่ควรไปเปิดเผยหรือเผยแพร่เกียรติยศชื่อเสียง ไม่ควรประกาศตนว่าเป็นเจ้า เพราะการไว้ยศนั้นทำให้วางตนลำบาก จะต้องรักษายศศักดิ์ จึงควรประพฤติตนเยี่ยงสามัญชนทั่วไป
๒. เงินที่ใช้สอยในการศึกษาเล่าเรียน เป็นเงินพระคลังข้างที่(เงินส่วนพระองค์) ทั้งนี้เพราะว่าพระองค์มีพระราชโอรสมาก จึงทรงเห็นว่าการใช้เงินแผ่นดินในการส่งพระราชโอรสไปศึกษาเล่าเรียนจึงทำให้พ้นจากคำครหาทั้งปวงได้
๓. ขอให้ตระหนักว่า ถึงจะเกิดมาเป็นลูกของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ก็มิใช่ว่าจะฝักใฝ่แต่ความสบายอย่าง จึงขอให้มีความอุตสาหะใฝ่ใจศึกษาเล่าเรียน
๔. อย่าคิดว่าตนเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน มีอำนาจยิ่งใหญ่ จะมาทำเกะกะระรานไม่เกรงกลัวผู้ใดไม่ได้ พระองค์ทรงปรารถนาให้พระราชโอรสมีความอ่อนน้อม ว่านอนสอนง่าย ให้ประพฤติให้ดีอยู่เสมอ ถ้าทำผิดจะถูกลงโทษทันที
๕. เงินทองที่ใช้สอย ขอให้จงประหยัดเขม็ดแขม่ อย่าทำใจโตใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย ถ้าใครเป็นหนี้กลับมา พระองค์จะไม่ยอมใช้ให้ หากจะใช้ให้ก็จะต้องได้รับการลงโทษเป็นประกันมั่นใจก่อนว่าจะไม่กลับไปทำอีก
๖. วิชาที่ออกไปศึกษาเล่าเรียน ต้องเรียนภาษาให้ได้สองในสาม จากภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน ที่สำคัญต้องไม่ลืมภาษาไทย
๗. การเล่าเรียนทั้งปวงของพระราชโอรส พระองค์ได้ทรงมอบธุระสิทธิ์ขาดให้แก่ กรมหมื่นเทวะวงษ์โรปการ และมีราชทูตเป็นธุระดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้ามีปัญหาหรือต้องการปรึกษาอันใดให้สอบถามได้

คุณค่าด้านวรรณศิลป์
– ใช้เทศนาโวหารด้วยสำนวนภาษาง่ายๆ ตรงไปตรงมา เช่น “ขอจดหมายคำสั่งตามความประสงค์ให้แก่ลูก บรรดาซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือในประเทศยุโรป จงประพฤติตามโอวาทที่จะกล่าวต่อไปนี้”
…การซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายแต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว ไม่มั่นหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียง…
– จะทรงโน้มน้าวใจโดยทรงชี้ให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียเปรียบเทียบกัน เช่น ถ้าเป็นเจ้านายแล้ว ต้องรักษายศศักดิ์ในกิจการทั้งปวงที่จะทำทุกอย่าง เป็นเครื่องล่อตาล่อหูคนทั้งปวงที่จะพอใจดูพอใจฟัง จะทำอันใดก็แพงกว่าคนสามัญ เพราะเขาถือว่ามั่งมี เป็นการเปลืองทรัพย์ในที่ไม่ควรจะเปลือง เพราะเหตุว่าถึงจะเป็นเจ้าก็ดีเป็นไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศมิใช่บ้านเมืองของตัวก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดไปผิดกับคนสามัญได้ จะมีประโยชน์อยู่นิดหนึ่งแต่เพียงเข้าที่ประชุมสูงๆได้ แต่ถ้าเป็นลูกผู้มีตระกูลก็จะเข้าที่ประชุมสูงๆได้เท่ากันกับเป็นเจ้านั่นเอง”
– การเปรียบเทียบความประพฤติของคนที่อยู่นิ่งๆโดยไม่ทำการสิ่งใด เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ฟังเกิดแรงบันดาลใจ มีมานะที่จะหมั่นศึกษาหาความรู้ เช่น “ถ้าจะถือว้าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่งๆอยู่จนตลอดชีวิตก็สบายดังนั้น จะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉานอย่างเลวนัก”
– การใช้ภาพพจน์ เปรียบเทียบให้เกิดจินตภาพ เช่น ชีวิตสังขารของมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลา ถึงโดยว่าจะมีพ่ออยู่ในขณะหนึ่ง ก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่งเป็นแน่แท้ ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลามีพ่ออยู่แล้ว ความชั่วนั้นควรปรากฏเป็นโทษติดตัวเหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด”

คุณค่าด้านสังคม
– สะท้อนให้เห็นว่าสมัยแต่เดิมนั้นบุตรของท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลายจะหาช่องทางรับ ราชการยากเพราะเป็นผู้มีวาสนาก็จะต้องแต่งตั้งให้รับตำแหน่งใหญ่โตสมฐานะ แต่ถึงตำแหน่งจะใหญ่โตความรู้ความสามารถก็ยังต้องถึงด้วย ดังคำสอนในพระบรมราโชวาทว่า“ เจ้านายจะเป็นผู้ได้ทำราชการ มีชื่อเสียงดีก็อาศัยได้แต่สติปัญญาความรู้และความเพียรของตัว เพราะฉะนั้นจงอุตสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง”
– สมัยก่อนการให้ความรู้นั้นถือว่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง เพราะเป็นของติดตัวไม่เสื่อมสูญ ดังคำสอนในพระบรมราโชวาท การซึ่งให้มีโอกาสและให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้เป็นหลักทรัพย์มรดกอันประเสริฐดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเป็นของติดตัวอยู่ได้ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ เหมือนหนึ่งได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ลูกเสมอๆ กันทุกคน”
– สะท้อนให้เห็นว่าฝรั่งแต่ก่อนนั้นมั่งมี มีเงินใช้เยอะๆนั้นมาจากการได้ดอกเบี้ย สมัยก่อนนั้นจึงสอนบุตรไม่ให้อวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียมผู้ดีฝรั่ง ให้ใช้เงินอย่างประหยัด มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่จะรักษาความสุขของตนพอสมควร ดังคำสอนในพระบรมราโชวาท
ตั้งใจอยู่เสมอว่าตัวเป็นคนจน มีเงินใช้มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่จะรักษาความสุขของตนพอสมควรดัง ไม่มั่งมีเหมือนผู้ดีฝรั่งที่เขาสืบตระกูลกันมาได้ด้วยดอกเบี้ย อย่าอวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียบเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด”
– สะท้อนให้เห็นว่าวิชาความรู้ในสมัยก่อนนั้นยังไม่รุ่งเรือง เหมือนสมัยนี้ มาจากการที่ไม่ได้คบค้าสมาคมกับชาติอื่นมาช้านาน ฝ่ายหนังสือไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียน จึงต้องไปเรียนภาษาอื่นเพื่อนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังที่ตรัสไว้ในพระบรมราโชวาทว่า
จงเข้าใจว่าภาษาต่างประเทศนั้นเป็นแต่พื้นของความรู้ เพราะวิชาความรู้ในหนังสือไทยที่มีผู้แต่งไว้นั้นเป็นแต่ของเก่ามีน้อย เนื่องจากมิได้สมาคมกับชาติอื่นมาช้านาน ฝ่ายหนังสือไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียนจึงต้องไปเรียนภาษาอื่น แล้วเอากลับลงมาใช้เป็นภาไทยทั้งสิ้น”

การนำไปใช้
๑. การไปศึกษาที่ใดไม่ให้อวดอ้างหรือไว้ยศว่าเป็นเจ้าเพราะจะได้ไม่ต้องใช้เงินฟุ่มเฟือยในการรักษายศถาบรรดาศักดิ์ โดยไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด
๒.ให้นึกไว้ว่าทุนทรัพย์ที่ได้เล่าเรียนวิชานี้ เป็นทรัพย์มรดกอันประเสริฐกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเป็นของติดตัวไม่เสื่อมสูญ จึงให้มีความอุตสาหะพากเพียรเรียนหนังสือให้เต็มที่ เพื่อจะได้มีโอกาสที่จะทำคุณให้แก่บ้านเมือง
๓.รู้จักเป็นคนอ่อนน้อมว่าง่ายสอนง่าย อย่าให้เป็นทิฐิมานะไปในทางที่ผิด จงละเว้นที่ชั่วซึ่งรู้ได้เองแก่ตัวหรือมีผู้ตักเตือนแนะนำให้รู้แล้ว อย่าให้ล่วงให้เป็นไปได้เลยเป็นอันขาด
๔.ให้รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด และรู้จักคุณค่าของเงิน อย่าทำใจโตมือโตสุรุ่ยสุร่าย จงนึกไว้ให้เสมอว่าเงินทองที่แลเห็นมากๆนั้น ไม่ได้เป็นของหามาได้โดยง่ายเหมือนเวลาที่จ่ายไป
๕.ไม่ให้ใช้เกียรติยศชื่อเสียงเป็นช่องทางในการทำมาหากิน ถ้าจะเป็นผู้ที่ได้ทำราชการมีชื่อเสียงดี ก็ต้องอาศัยแต่สติปัญญาความรู้ ไม่ใช่ยศถาบรรดาศักดิ์
๖.ไม่ให้ถือตัวว่าเป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่แล้วทำเกะกะระรานคุมเหมไม่เกรงกลัวผู้ใด เพราะจะเป็นโทษแก่ตัวเองเมื่อหมดอำนาจวาสนาแล้ว
๗.ไม่ให้ก่อหนี้ยืมสิ้น เพราะจะให้โทษแก่ตัวเองเมื่อถึงเวลาใช้หนี้ก็ต้องหาเงินมาใช้ให้ทัน
๘.ไม่ให้คิดว่าเป็นเจ้านายมั่งมีแล้วอยู่นิ่งๆ ไม่ทำประโยชน์อันใด เพราะจะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉานเพราะสัตว์บางอย่างยังมีหนังมีเขามีกระดูกเป็นประโยชน์ได้บ้างแต่ถ้าคนประพฤติอย่างสัตว์ จะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานบางพวกอีก
๙.ให้เข้าใจว่าการออกไปศึกษาในประเทศยุโรปนั้น ใช่ว่าจะต้องนำเอามาใช้แต่เฉพาะภาษาฝรั่งอย่างเดียว ภาษาไทยและหนังสือไทยซึ่งเป็นภาษาของเราเองคงจะต้องใช้อยู่เป็นนิจ คือ สามารถกลับมาแปลภาษาไทยออกเป็นภาษาต่างประเทศได้จึงจะนับว่าเป็นประโยชน์
๑o. เมื่อไปอยู่โรงเรียนแห่งใดให้ประพฤติการให้เรียบร้อยตามแบบอย่างที่เขาตั้งไว้อย่าเกะกะวุ่นวายเชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ